วันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ความแตกแยกของสังคมและการเมืองไทย

ความขัดแย้งในการเมืองไทย
ความขัดแย้งในสังคมไทยในอดีตมีมาเรื่อย ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำที่ยุติลงด้วยการเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิ.ย.2475 หลังจากนั้นก็เกิดความขัดแย้งเชิงอุดมการณ์ระหว่างรัฐไทยกับพรรคคอมมิวนิสต์ แห่งประเทศไทยตั้งแต่ปี 2492-2525  ซึ่งสิ้นสุดลงด้วยนโยบายการให้อภัย ตามคำสั่งที่ 66/2523 ต่อมาก็เป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลเผด็จการกับกระแสเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชน อันก่อให้เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516และพฤษภาทมิฬ 2535

แต่ความขัดแย้งที่ผ่านมายังไม่มีความรุนแรงเท่าความขัดแย้งทางการเมืองยืดเยื้อ เรื้อรังในขณะนี้ ที่เริ่มต้นเมื่อปลายปี 2548 และพัฒนามาเป็นความขัดแย้งระหว่าง เสื้อเหลือง” กับ เสื้อแดง” อยู่จนถึงทุกวันนี้ ความขัดแย้งยาวนานนี้ยังไม่มีใครรู้ว่าจะจบลงอย่างไร แต่ที่แน่ใจได้ก็คือ ผลกระทบของมันมีความรุนแรงมากหลายด้าน ดังนี้

1.ความขัดแย้งดังกล่าวถูกกระพือให้เป็นความขัดแย้งร้าวลึกระหว่างประชาชน ลุกลามไปทุกที่ ไม่ว่าในครอบครัว ในบรรดาเพื่อนฝูงที่ทำงาน จนแม้ระหว่างคนในภูมิภาคต่างๆ โดยเฉพาะคนภาคเหนือและภาคอีสานฝ่ายหนึ่ง กับคนภาคใต้ ถึงขั้นที่มีการตั้งคำถามถึงเอกภาพและบูรณภาพของความเป็นชาติไทยเลยทีเดียว หากไม่สามารถระงับความรู้สึกแตกแยกรุนแรงนี้ ให้ยุติลงได้ในอนาคตอันใกล้ ก็ไม่แน่ว่าอุดมการณ์ความเป็นชาติไทยหนึ่งเดียวจะสั่นคลอนเพียงใด
2. ไม่มีความขัดแย้งครั้งใดที่เกือบทุกสถาบันหลักของประเทศถูกตั้งคำถามถึงความ ชอบธรรม และบทบาทมากที่สุด อย่างในเวลานี้ รัฐบาลพลังประชาชนประชาชนของอดีตนายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ก็ถูกคนเสื้อเหลืองประท้วงยืดเยื้อ รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะก็ถูกคนเสื้อแดงประท้วงไม่เลิก รัฐสภาก็ถูกตั้งฉายาที่แสดงให้เห็นการไม่ยอมรับ องค์กรอิสระก็ถูกท้าทายและไม่ยอมรับ ศาลซึ่งไม่เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์ก็ถูกวิพากษ์อย่างเปิดเผย สถาบันองคมนตรีซึ่งควรอยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมือง ก็เป็นเป้าการโจมตีของคนบางกลุ่ม! วิกฤติความเป็นธรรมนี้บั่นทอนความเชื่อมั่น (Trust) ในสถาบันทั้งหลาย และอาจนำมาซึ่งความล่มสลายของประชาธิปไตยได้หากปล่อยให้ยืดเยื้อ

3.หลักนิติธรรมและความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายในบ้านเมืองถูกสั่นคลอนอย่างรุนแรงโดยรัฐเองและประชาชน การทุจริตที่ปรากฏเป็นข่าวมากมายในฝ่ายการเมืองและข้าราชการแสดงให้เห็นความไม่แยแสต่อกฎหมายของผู้มีอำนาจ ความไม่สงบใน จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการที่ฝูงชนทั้งเสื้อเหลือง เสื้อแดงสามารถกระทำการท้าทายความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายได้โดยมิได้มีอะไร เกิดขึ้น ทำให้มีการตั้งคำถามกันว่า รัฐไทยเป็นรัฐที่ล้มเหลว (Failed State) ที่ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ความรุนแรงในประเทศได้หรือไม่ยิ่งถ้าดูเทียบกับดัชนีวัดหลักนิติธรรมของสถาบันธนาคารโลก (World Bank Institute) แล้ว ก็จะพบว่าในปี 2550 สถานะของหลักนิติธรรมในอาเซียนนั้น เราดีกว่าเพียงพม่า กัมพูชา ลาว เวียดนาม และฟิลิปปินส์เท่านั้น
4. การลุกลามของความขัดแย้งในประเทศเป็นปัญหาระหว่างประเทศของไทยกับเพื่อนบ้าน คือกัมพูชา ซึ่งถ้าไม่จัดการให้ดีก็จะกระทบกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และการเมืองระหว่างประเทศ ทั้งอาจลุกลามไปสู่ภูมิภาคก็เป็นได้

5. ผลกระทบทางเศรษฐกิจนั้น ยังไม่มีสถาบันใดทำตัวเลขให้เห็นชัดสำหรับความสูญเสียดังกล่าวของประเทศไทย แต่ถ้าเทียบกับประเทศเกาหลีใต้ที่ความรุนแรงของความขัดแย้งของสังคมน้อยกว่า ไทยมาก ก็จะเห็นความน่ากลัว จากรายงานของสถาบันพัฒนาเกาหลี (Korean Development Institute) ในปี 2549 ซึ่งระบุว่ามีการเดินขบวน 11,036 ครั้ง ทำให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจถึง 5.6 –9.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ  ประเทศไทยมีความรุนแรงกว่ามาก แต่ยังไม่มีใครทำตัวเลขออกมาทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นผลที่เกิดขึ้นแล้ว แต่ถ้าดูผลที่ยังไม่เกิดขึ้น แต่จะเกิดขึ้นในระยะต่อๆ ไปก็คือ ความเชื่อมั่นของสังคมโลกต่อประเทศไทย ทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม คงถูกกระทบอย่างรุนแรงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์.
อะไรคือสาเหตุแห่งความขัดแย้ง?

หากพิจารณาอย่างผิวเผินความขัดแย้งนี้ เป็นเรื่อง บุคคล” ระหว่างอดีตนายกรัฐมนตรีและผู้สนับสนุน กับฝ่ายต่อต้าน ถ้าวิเคราะห์แนวนี้ เราก็พอจะมองออกว่า เมื่ออดีตนายกรัฐมนตรีและผู้สนับสนุนกับฝ่ายต่อต้าน ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเลิกราไปไม่ว่าจะด้วยเหตุใด ความขัดแย้งนี้ก็จบ และประเทศไทยก็เดินต่อไปได้ตามปกติ

แต่จุดอ่อนการวิเคราะห์แนวนี้ก็คือ ไม่ได้ดูที่ ต้นเหตุ ของการได้มาซึ่งอำนาจการเมืองของผู้มีอำนาจเดิม และการใช้อำนาจ (ซึ่งรวมถึงอำนาจตามกฎหมาย อิทธิพลหรืออำนาจในความเป็นจริงและเงิน) ว่ามีฐานมาจากความขัดแย้งเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและทางสังคมที่ซ่อนตัวอยู่ ความขัดแย้งดังกล่าว มีลักษณะบุคคลของคู่ขัดแย้งอยู่ก็จริง โดยรากฐานสำคัญก็คือความขัดแย้งเชิงโครงสร้างในการจัดสรรทรัพยากรและความมั่งคั่ง ระหว่าง คนมีกับ คนไม่มี” รวมถึงแนวความคิดและความคาดหวังต่อระบอบประชาธิปไตยที่แตกต่างกัน
นับตั้งแต่ที่ประเทศไทยได้ประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเป็นครั้งแรก เมื่อปี 2504 มีการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศโดยเน้นการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า (import substitution)ซึ่งต้องอาศัยการพึ่งพาเงินทุนมหาศาลจากต่างประเทศ นโยบาย และกฎหมายต่างๆ ที่ออกในช่วงนี้ก็เป็นไปเพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์ดังกล่าวทั้งสิ้น เช่น กฎหมายส่งเสริมการลงทุน กฎหมายการนิคมอุตสาหกรรม กฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ฯลฯ ต่อมายุทธศาสตร์ก็เปลี่ยนเป็นการผลิตเพื่อส่งออก (export oriented) ในแผน 4 และแผน 5 อย่างไรก็ดี การเกษตรกรรมที่เคยเป็นรายได้หลักของประเทศกลับไม่ได้รับความสำคัญ ดังนั้น การเพิ่มผลผลิตจึงเป็นไปด้วยการขยายพื้นที่ ไม่ใช่ด้วยการเพิ่มผลิตภาพต่อไร่ ทั้งยังไม่มียุทธศาสตร์การพัฒนาการเกษตรและเกษตรกร ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ

นอกจากไม่มียุทธศาสตร์พัฒนายกเว้นการพยุงราคาเมื่อมีปัญหาแล้ว ในหลายกรณี รัฐก็กลับกระทำการที่เป็นผลเสียต่อเกษตรกรเสียเอง อาทิ การเก็บพรีเมี่ยมข้าวที่ส่งออก ซึ่งส่งผลให้ผู้ส่งออกผลักภาระไปกดราคาซื้อข้าวจากชาวนาให้ตกต่ำลงไป นโยบายส่งเสริมธุรกิจและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เพื่อการส่งออก ละเลยธุรกิจขนาดกลางขนาดเล็ก และไม่ไยดีกับการพัฒนาการเกษตรและเกษตรกรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้

จากนโยบายดังกล่าว ทำให้เกิดความกระจุกตัวของความมั่งคั่งอย่างมหาศาล ในขณะที่เกิด คนมั่งมีมหาศาล” และ คนชั้นกลางที่มีอำนาจต่อรองในระบบเศรษฐกิจแบบตลาด และเข้าถึงทรัพยากรขึ้นในเมือง ก็เกิด คนจน” ที่เป็นเกษตรกรและอยู่ในชนบทมาก และแม้ว่าประเทศไทยจะมีรายได้ประชาชาติต่อคนเพิ่มขึ้น สัมประสิทธิ์จีนีก็ไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ในปี 2505 กลุ่มประชากรที่มีรายได้สูงที่สุด 20% เป็นเจ้าของรายได้โดยรวมทั้งหมดของประเทศถึง 59% ในขณะที่กลุ่มประชากรที่มีรายได้น้อยที่สุด20%เป็นเจ้าของรายได้โดยรวมทั้งหมดของประเทศเพียง 2.9% ส่วนในปี 2518 อัตราส่วนอยู่ที่ 49.24 % ต่อ 6.05 % และในล่าสุดในปี 2549ที่ผ่านมา อัตราการกระจายรายได้ก็ยังคงความเหลื่อมล้ำอยู่ที่56.29% ต่อ 3.84 %

โครงสร้างที่ไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจในสังคมไทยจึงก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบการเมืองเช่นกัน กล่าวคือ คนจน” และเกษตรกรเหล่านี้ไม่มีอำนาจต่อรองในระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเหมือนคนชั้นกลาง และเข้าไม่ถึงทรัพยากร (ซึ่งในอดีตเคยเข้าถึง แต่ถูกรัฐส่วนกลางรวบอำนาจจัดการแต่ผู้เดียวไว้) คนเหล่านี้จึงต้อง พึ่งพิง” ผู้มีทรัพยากรในหัวเมือง ภายใต้ระบบอุปถัมภ์แบบไทยเดิม และทำให้คนเหล่านี้เป็น ผู้มีอิทธิพล” และสามารถได้รับความไว้วางใจเลือกให้เข้ามาทำหน้าที่แทนในฐานะผู้แทนราษฎรในระบอบประชาธิปไตย และก้าวไปสู่อำนาจรัฐที่มากกว่านั้นในฐานะรัฐมนตรี

 

การที่ระบบเศรษฐกิจไทยก็ยังไม่ใช่ระบบเศรษฐกิจเสรีที่อาศัยกลไกตลาดเต็มที่ และรัฐยังคงครอบครองทรัพยากรสำคัญไว้และให้สัมปทานแก่เอกชน การเข้าสู่อำนาจการเมืองจึงไม่ได้หมายถึงการมี อำนาจ” เท่านั้น แต่หมายถึง โอกาส” ทางธุรกิจและเศรษฐกิจที่เกิดจากการมีอำนาจให้สัมปทาน หรืออาจได้รับสัมปทานเสียเอง ซึ่งในหลายกรณีทำให้บุคคลเหล่านี้กลายเป็น ผู้มั่งมี” ขึ้นได้ในเวลาอันรวดเร็ว การทุจริตและการประพฤติมิชอบในรูปแบบต่างๆก็เกิดขึ้นโดยทั่วไป ทั้งระดับการตัดสินใจของรัฐทางการเมือง ทั้งในระบบการเลือกตั้ง 

โครงสร้างที่ไม่เท่าเทียมกันในสังคมและระบบการพึ่งพิงกันแบบอุปถัมภ์ฝังรากลึกอยู่ในระบบการเมืองไทยตั้งแต่ พ.ศ.2475 โดยมีลักษณะสำคัญก็คือสภาพที่นักวิชาการเรียกว่า คนจน” ซึ่งต้องพึ่งพิงการอุปถัมภ์และเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เป็น ฐานเสียง” และเป็นผู้ก่อให้เกิดเสียงข้างมากในสภาและรัฐบาล แต่ คนชั้นกลาง” เป็น ฐานนโยบาย” เพราะเสียงดังกว่าและมีอำนาจล้มล้างรัฐบาลที่ตนไม่ชอบได้ ในขณะที่ข้าราชการทหารพลเรือนซึ่งเป็นตัวแทนอำนาจรัฐที่แท้จริง ก็ยังคงแย่งชิงอำนาจทางการเมืองกับพรรคการเมืองและผู้ที่มาจากการเลือกตั้ง

ซึ่งก่อให้เกิดผลสำคัญในระบอบการเมืองไทย คือ ในระยะเวลา 78ปีของระบบรัฐสภา ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรี 27 คน มีคณะรัฐมนตรี 59 ชุด มีรัฐธรรมนูญ 18 ฉบับ มีกบฏ 11 ครั้ง มีการปฏิวัติรัฐประหาร 12 ครั้ง !!

สำหรับเม็ดเงินภายในประเทศนั้น ซึ่งหากดูจากบัญชีเงินฝากในธนาคาร มีเพียง 70,000 บัญชี ที่มีเงินในแต่ละบัญชีสูงกว่า 10 ล้านบาท และถือเป็นร้อยละ 42 ของจำนวนเงินที่มีอยู่ในระบบทั้งหมด นั่นหมายความว่า ถ้าคนแต่ละคนมีบัญชีธนาคารคนละ 2 บัญชี แสดงว่ามีคนเพียง 35,000 คนเท่านั้น ที่เป็นเจ้าของเงินเกือบครึ่งหนึ่งในประเทศ

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าความขัดแย้งระหว่าง คนมั่งมีมหาศาล” และ คนชั้นกลาง” ฝ่ายหนึ่ง กับ คนจนส่วนใหญ่” อีกฝ่ายหนึ่งซ่อนตัวอยู่ใต้เศรษฐกิจแบบกึ่งเปิดกึ่งปิด และการเมืองแบบกึ่งเผด็จการกึ่งประชาธิปไตย ความขัดแย้งนี้ เป็นความขัดแย้งเชิงโครงสร้างที่รอวันปะทุขึ้น ไม่วันใดก็วันหนึ่ง

แม้ว่าจะมีความพยายามปฏิรูปการเมืองโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ซึ่งมีเจตนารมณ์ทำให้การเมืองเป็นของพลเมืองด้วยการขยายสิทธิ เสรีภาพ และส่วนร่วมทางการเมืองให้มากขึ้น พยายามทำให้ระบอบการเมืองโปร่งใสและสุจริตด้วยการเพิ่มองค์กรตรวจสอบมากถึง 8 องค์กร และมีกระบวนการตรวจสอบหลายชั้น รวมทั้งการทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพและประสิทธิภาพก็ตาม

แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็ไม่ได้ปรับความขัดแย้งเชิงโครงสร้างที่ฝังลึกและซ่อนอยู่อย่างจริงจัง โดยเฉพาะความขัดแย้งที่เกิดมาจากการจัดสรรทรัพยากรของรัฐไทย ซึ่งเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ ตรงกันข้าม กลับทำให้พรรคการเมืองต่างๆ มุ่งแสวงหาประโยชน์จากข้อได้เปรียบในที่อยู่ในตัวรัฐธรรมนูญเอง ในขณะที่ข้อบกพร่องที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญเป็นตัวจุดชนวนความขัดแย้งที่กำลังจะปะทุขึ้น.
ทางออกของความแตกแยกของสังคมและการเมืองไทย
 ปัจจุบันสังคมไทยกำลังเผชิญกับความแตกแยกทางความคิดในขั้นที่รุนแรง มีการแบ่งฝ่ายเป็นสีต่าง ๆแม้แต่ในที่ทำงานในสถาบัน หรือครอบครัวเดียวกันก็ตาม   ส่งผลให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่การทำรัฐประหารในปี 2549  มาถึงการก่อม็อบยึดสนามบิน  ทำเนียบรัฐบาล ย่านชุมชนธุรกิจใจกลางเมือง ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจคิดเป็นเงินหลายแสนล้านบาท มีจำนวนผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของไทย  ยังมีความสับสนในแนวทางทางแก้ไข  สภาพของบ้านเมืองในปัจจุบันอาจเรียกได้ว่าอยู่ในสภาวะสุญญากาศ น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ทางสภาอาจารย์ฯ จึงได้จัดเสวนาสภาอาจารย์ฯ ครั้งที่ 8/2553  เมื่อวันพุธที่ 7 กรกฎาคม 2553  เวลา 12.00-14.00 น.  ณ ห้องประชุม 1 สำนักงานอธิการบดีวิทยาเขตหาดใหญ่ นี้ขึ้น  โดยมี ผศ.ปิยะ  กิจถาวร คณบดีคณะรัฐศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ  มีผู้เข้าร่วมเสวนาดังนี้  รศ.ดร.วิชัย  กาญจนสุวรรณ  คณะวิทยาการจัดการ, รศ.ดร.ศิโรช  จิตต์สุรงค์  ประธานสภาอาจารย์ฯ, รศ.ดร.ศิริพันธุ์  หิรัญญะชาติธาดา เลขานุการสภาอาจารย์ฯ, รศ.ดร.ปิ่น  จันจุฬา  สมาชิกสภาอาจารย์ฯ  พอสรุปประเด็นได้ดังนี้
1.  สาเหตุของความแตกแยกของสังคมและการเมืองไทย มาจากสาเหตุหลักอะไร
พอสรุปประเด็นหลักได้ 4 ประเด็นดังนี้
1.1 ด้านสังคม
เกิดจากความเหลี่ยมล้ำในทางสังคมที่ขยายวงกว้างไปมาก  การติดยึดค่านิยมในระบบอุปถัมถ์  โดยเฉพาะสถาบันหลักของประเทศ มีค่อนข้างรุนแรง ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ย้ายข้ามสายงาน ความรู้ ความสามารถ เล่นพรรค เล่นพวก อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสภาพสังคม และสภาพปัญหาด้านต่าง ๆ มีความซับซ้อนมากขึ้น ทำให้เกิดความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ของกลุ่มต่าง ๆ อย่างรุนแรงมากขึ้น
1.2 ด้านการเมือง
การไม่เห็นคุณค่า และการไม่ยึดมั่นกระบวนการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในระบอบประชาธิปไตย แต่แก้ปัญหาโดยการใช้อำนาจ ใช้การครอบงำ (dominate)   ทั้งทางความคิด การใช้เงิน การใช้ความรุนแรง การใส่ร้ายป้ายสี การกล่าวหาซึ่งกันและกัน สถาบันทางการเมือง เช่น พรรคการเมือง รัฐสภา องค์กรอิสระต่าง ๆ มีความอ่อนแอ
1.3 ด้านการบริหาร
เป็นที่รับรู้กันว่ามีกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ โดยเฉพาะในทางธุรกิจเข้าไปมีอิทธิพลในพรรคการเมือง  ในรัฐบาล ในระบบราชการ   ผู้แทนประชาชนทั้ง ส.ส. และ  ส.ว.  ต่างก็ทำทุกวิถีทางที่จะไปเป็นรัฐบาล
1.4 ด้านบทบาททหารในทางการเมือง
                        เมื่อรัฐบาลต้องพึ่งพิง อาศัยอำนาจของทหารสนับสนุนเพื่อความอยู่รอดของรัฐบาล เพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน ทำให้สถาบันทหารได้ปรับตัวเข้ามาอิทธิพลเหนือฝ่ายการเมืองมากขึ้น ทั้ง ๆ ที่นับตั้งแต่พฤษภาคม 2535 เป็นต้นมา บทบาท และความชอบธรรมของทหารในการเข้าไปมีบทบาททางเมืองได้ลดลงเป็นอย่างมาก  
2. ทางออกที่ดีของสังคมไทยควรจะเป็นอย่างไร?
2.1 มองในแง่บวก ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกัน ประเทศไทยเรายังมีภาพรวมที่ดีมาก  ประเทศไทยยังไม่เคยเจอปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง จนเกิดสภาวะสงคราม และเกิดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินมากเหมือน ประเทศเพื่อนบ้านของเรา เช่น เวียดนาม เขมร ลาว  อินโดนีเซีย  อย่างไรก็ตาม เราน่าจะอาศัยโอกาสนี้ อาจจะเรียกว่าเป็นโอกาสทอง หันมาดูตัวของเราเอง ทำอย่างไรที่เราจะก้าวข้ามภาวะวิกฤตนี้ไปได้ มีบทเรียนจากประเทศต่าง ๆ ให้เราได้ศึกษาเป็นอย่างดี
2.2 การปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยใช้ระบบรัฐสภา อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ยัง เป็นแนวทางปกครองดีที่สุดต่อประเทศไทยในขณะนี้ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือแก้ไข คลี่คลายสถานการณ์ความขัดแยงในปัจจุบัน ซึ่งน่าจะมีอยู่ 2 ทางเลือก คือ           การจับอาวุธเข้าต่อสู้กัน และ หรือให้ประชาชนเป็นผู้คลี่คลายปัญหาความขัดแย้ง ผ่านการเลือกตั้งในระบบรัฐสภา
2.3 การแก้ปัญหาความขัดแย้ง ความแตกแยกที่เกิดขึ้น ต้องยึดหลักประชาธิปไตย โดยใช้การเผชิญหน้าของทุกฝ่าย เพื่อหาทางออกผ่านกลไกในระบบรัฐสภา  คณะกรรมการปรองดองแห่งชาติ ที่กำลังทำงานน่าจะเป็นการซื้อเวลาของรัฐบาลมากกว่า
2.4 แนวทางในการแก้ปัญหาระยะยาว
อันดับแรก สร้างความเข้มแข้งให้ระบบพรรคการเมือง ทำให้พรรคการเมืองหลุดออกจากการครอบงำของกลุ่มทุน กลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ เช่น ในกรณีของประเทศเกาหลี ได้มีการออกกฎหมายห้ามพรรคการเมืองรับเงินจากบริษัทต่าง ๆ เพื่อลดอิทธิพลของอำนาจเงิน พรรคการเมืองจะต้องแสวงหาการสนับสนุนจากประชาชนมากขึ้น
 อันดับที่สอง  สร้างการเรียนรู้และการเห็นคุณค่าของการปกครองในระบอบเสรีประชาธิปไตย โดยกำหนดให้มีการบังคับเรียนเรื่องประชาธิปไตย  ประวัติศาสตร์การเมือง การปกครองของไทย โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่สำคัญทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย เช่น การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475, เหตุการณ์วันที่  14 ตุลาคม6 ตุลาคม, พฤษภาทมิฬ ในปี 2535  ในทุกระดับการศึกษา โดยเฉพาะระดับอุดมศึกษา เหมือนหลายประเทศที่ทำได้สำเร็จเป็นแบบอย่างที่ดีมาแล้ว  มหาวิทยาลัยควรเข้ามามีบทบาทตรงจุดนี้มากขึ้น.